ความสามารถครั้งใหญ่ของ Virtual Machine File System 5 (VMFS-5)

การปรับเปลี่ยนเวอร์ชั่นใหม่ของโครงสร้างเวอร์ชวลไลเซชั่นระดับโลกอย่าง VMware vSphere ขึ้นมาเป็นเวอร์ชั่น 5 ย่อมทำให้องค์ประกอบหลายส่วนภายในถูกขยับตามไปอย่างอหังการ์ หนึ่งในนั้นคือระบบไฟล์อันมีนามว่า Virtual Machine File System (VMFS) ถูกเปลี่ยนจากเวอร์ชั่น 3.46 มาเป็น 5 อย่างเลี่ยงไม่ได้ และนี่คือความสามารถครั้งใหม่และใหญ่ของ VMFS-5

ศักยภาพใหญ่ๆ

  • บล็อกขนาด 1 เมกกะไบต์ถ้วนทั่วกัน (Unified 1MB Block Size) – บน VMFS-3 ขนาดของบล็อกมีหลากหลายตั้งแต่ 1, 2, 4 และ 8 เมกกะไบต์ (MB) เวลาเราสร้างดาต้าสโตร์ (Datastore) จำเป็นต้องระบุขนาดให้เหมาะสม เพื่อให้เราสามารถสร้างไฟล์ขนาดใหญ่ได้ตามความต้องการ แต่บน VMFS-5 ขนาดของบล็อคจะยืนอยู่ที่ 1 เมกกะไบต์ตลอดศก ไม่มีให้เลือกอีกแล้ว ลดความวุ่นวายไปได้อยู่โข
  • ขนาดวอลลุ่มใหม่ใหญ่อหังการ์ (Large Single Extent Volumes) – ในเวอร์ชั่นเก่าวอลลุ่มที่รองรับใหญ่สุดเพียงแค่ 2 เทราไบต์ (TB) มาคราวนี้มีให้เราได้เล่นเลยเถิดกันไปถึง ~60 เทราไบต์…. อะไรจะไขนนาด
  • ขนาดบล็อคย่อยลดลงไป (Small Sub-Block) – เดิมทีเราใช้บล็อคย่อยมีขนาด 64 กิโลไบต์ (64KB) มาคราวนี้วีเอ็มแวร์ลดลงให้เล็กสุดใจเหลือแค่ 8 กิโลไบต์ (8KB) เท่านั้น  นั่นทำให้ไฟล์ขนาดเล็กกว่า 8 กิโลไบต์ (แต่ใหญ่กว่า 1 กิโลไบต์) จะไม่ต้องใช้พื้นที่ขนาด 64 กิโลไบต์ในการจัดเก็บ ทำให้ได้พื้นที่คืนมามากอยู่
  • รองรับไฟล์เล็กๆ ได้ดีขึ้น (Small File Support) – บน VMFS-5 สำหรับไฟล์ขนาดเล็กกว่า 1 กิโลไบต์ จะไม่ได้เก็บอยู่ในบล็อคย่อยขนาด 8 กิโลไบต์เพียงไฟล์เดียว มันเปลืองเกินไป ระบบจะทำการจัดเก็บไฟล์ย่อยๆ ขนาด 1 กิโลไบต์ไว้รวมๆ กันในบล็อคย่อย แล้วเก็บตำแหน่งของไฟล์ไว้ใน metadata สำหรับเรียกหาไฟล์เมื่อต้องการ และเมื่อไฟล์บางไฟล์เริ่มโตขึ้นจนมีขนาดใหญ่โตเกินกว่า 1 กิโลไบต์ มันก็จะถูกแยกออกไปอยู่ในบล็อคย่อยขนาด 8 กิโลไบต์ของมันเองเป็นเอกเทศ
  • จำนวนไฟล์ก็มากขึ้น (Increased File Count) – บน VMFS-5 รองรับจำนวนไฟล์ได้มากกว่า 100,000 ไฟล์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัว จากที่ VMFS-3 รับได้ที่ประมาณ 30,000 ไฟล์ต่อดาต้าสโตร์เท่านั้น
  • เพิ่มเติมการทำงานของ Atomic Test & Set (ATS Enhancement) – Atomic Test & Set (ATS) เป็นคุณสมบัติในการจัดการไฟล์บน VMFS ที่ได้ถูกเพิ่มเติมเข้ามาใหม่บนความสามารถ vSphere Storage APIs for Array Integration (VAAI) เมื่อตอน  vSphere 4.1 มาคราวนี้มันมาแบบจัดเต็ม ความสามารถ ATS จะอยู่บนทุกอณูของ VMFS-5 ทำให้ประสิทธิภาพในการล็อค (Lock) ก่อนจะทำการเขียนข้อมูลทำได้หรูยิ่งขึ้น

การอัพเกรดจาก VMFS-3 ไปเป็น VMFS-5

  • ทำได้โดยไม่มีดาวน์ไทม์ (Downtime) นั่นหมายความว่าเวอร์ชวลแมชชีน (Virtual Machine) ทำงานต่อไปได้แม้เราจะทำอัพเกรดดาต้าสโตร์อยู่
  • เมื่ออัพเกรดแล้ว ไฟล์เล็กๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า 1 กิโลไบต์ก็จะไปอยู่รวมกันเป็นที่เป็นทางในบล็อคย่อยๆ เพื่อไม่ให้เปลืองพื้นที่
  • เมื่ออัพเกรดแล้ววอลลุ่มก็จะสามารถใหญ่ได้สุดๆ ~60 เทราไบต์
  • และแน่นอนจะได้ความสามารถ ATS เข้าสู่วอลลุ่มหรือดาต้าสโตร์นั้นโดยพลัน

ความแตกต่างระหว่างสร้าง VMFS-5 ขึ้นมาใหม่ กับการอัพเกรดจาก VMFS-3

  • เมื่ออัพเกรดมา ขนาดบล็อคจะเป็นขนาดเดิมที่เคยเป็น ไม่ได้ปรับมาเป็นขนาด 1 เมกกะไบต์ให้
  • เมื่ออัพเกรดมา ขนาดบล็อคย่อยจะเป็น 64 กิโลไบต์ ไม่ใช่ขนาด 8 กิโลไบต์ตามโครงสร้างใหม่
  • เมื่ออัพเกรดมา จำนวนไฟล์ที่รองรับจะเป็น 30,720 ไฟล์เหมือนเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้น
  • เมื่ออัพเกรดมา รูปแบบพาร์ทิชั่น (Partition) จะเป็น Master Boot Record (MBR) สำหรับวอลลุ่มที่ไม่เกิน 2 เทราไบต์ เมื่อมันเกิน พาร์ทิชั่นจะเปลี่ยนเป็นแบบ GUID Partition Table (GPT) ให้อัตโนมัติ โดยที่เวอร์ชวลแมชชีนยังคงทำงานได้ไม่มีผลกระทบ
  • เมื่ออัพเกรดมา พาร์ทิชั่นจะเริ่มทำงานที่เซคเตอร์ (Sector) 128 แต่หากสร้างเป็น VMFS-5 ขึ้นมาใหม่ การทำงานจะเริ่มที่เซคเตอร์ 2048 นะครับ

ดิสก์แบบต่อตรง (Raw Device Mapping – RDM)

  • RDM แบบ Passthru (Physical) จะรองรับขนาดได้มหึมา ~60 เทราไบต์ ไม่ว่าจะอัพเกรดมาหรือสร้างใหม่
  • RDM แบบ Non-Passthru (Virtual) จะคงมีขนาด 2 เทราไบต์ ลบด้วย 512 ไบต์ (2TB-512B)

อื่นๆ อีกมากมาย

  • ขนาดไฟล์ VMDK ใหญ่ที่สุดบน VMFS-5 ยังคงได้แค่ 2 เทราไบต์ ลบด้วย 512 ไบต์ (2TB-512B)
  • จำนวนลัน (LUN) รองรับได้สูงสุด 256 ลัน บน ESXi 5.0

คำแนะนำเอย

จงสร้างดาต้าสโตร์ VMFS-5 ขึ้นมาใหม่เสียเถิด เพื่อให้รองรับความสามารถใหม่ๆ ให้ได้เป็นอย่างดี นั่นหมายความว่าเราจำต้องนำเอาความสามารถ Storage vMotion เข้ามาช่วย เพื่อย้ายเวอร์ชวลแมชชีนออกไปก่อน แล้วล้างดาต้าสโตร์ VMFS-3  ทิ้งไป ก่อนสร้างใหม่เป็น VMFS-5 แล้วนำเวอร์ชวลแมชชีนกลับคืนรัง ด้วยประการฉะนี้จะทำให้เวอร์ชวลแมชชีนไร้ซึ่งดาวน์ไทม์เอย


ที่มา http://www.vm.co.th

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความแตกต่างระหว่าง ESX และ ESXi

ติดตั้ง และใช้งาน VMware ESXi 4 (Free Version)